มิ้นท์เดินทางมาที่นี่จากจังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางแบบไม่มีรถส่วนตัวใช้เวลาเยอะหน่อย ร้อนหน่อย วุ่นวายหน่อย แต่เชื่อไหมว่าทันทีที่เหยียบเข้ามาในชุมชนพระบาทห้วยต้ม ความเหนื่อย ความวุ่นวายหายไปหมดกลายเป็น ‘ความสงบ’ ที่มีเสียง เสียงดังจากเครื่องยนต์ เปลี่ยนเป็นเสียงร้องเพลงคุยกันดังลั่นของนกที่อยู่ตามต้นไม้เต็มหมู่บ้าน คุณลุงในชุดผ้าทอมือขี่จักรยานผ่านไปส่งยิ้มทักทาย กลุ่มผู้หญิงนั่งจับกลุ่มกันใต้ต้นมะขามแกะมะขามเพื่อขายเป็นรายได้เล็กๆน้อยๆตามฤดูกาล หรือจะเป็นเสียงกระแทกของกี่ทอผ้าที่แม่บ้านรีบถักทอให้ทันใส่ในช่วงสงกรานต์ที่จะมาถึง
นี่คือ ‘ความสงบ’ ที่มีเสียง
นอกจากการเดินเล่นไปรอบๆหมู่บ้าน เฝ้ามองวิถีชีวิตที่เรียบง่ายที่เกิดขึ้นรอบบ้านไม้ และสวนเล็กๆในบ้านแต่ละหลัง หรือจะไปเยี่ยมชมวัดพระบาทห้วยต้มที่สวยงาม ซึ่งเป็นจุดรวมใจของศาสนาพุทธที่แน่นแฟ้นอยู่ในชุมชนนี้ ที่นี่ยังมีกิจกรรมต่างๆให้ทำอีกหลายอย่าง
1.เดินเข้าอุโมงค์เวลาไปชมวิถีดั้งเดิมของเผ่าปกาเกอะญอที่บ้านน้ำบ่อน้อย
หมู่บ้านเล็กๆ 54 หลังคาเรือนแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชุมชนพระบาทห้วยต้ม ความพิเศษของที่นี่ คือ เขาปฏิเสธสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า หลังคาสังกะสี และถนนในหมู่บ้าน ทั้งๆที่ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากถนนใหญ่ไม่ถึง 50 เมตร
เมื่อเดินเข้าไปที่นี่ เราจะถูกรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ บ้านที่สร้างให้สอดคล้องกับธรรมชาติกับหลังคามุงด้วยใบตองตึง และฝาบ้านที่ทำจากไม้ไม้ไผ่ ชาวบ้านนั่งรวมตัวกันทำกิจกรรมที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ทั้งการมุงหลังคา ทอผ้าใส่เอง ทำลูกประคำไว้สวดมนต์ หรือการแบกฟืนเพื่อใช้หุงหาอาหาร
สำหรับใครที่อยากจะสัมผัสวิถีแท้ๆของชาวปกาเกอะญอแบบใกล้ถนนใหญ่ ไม่ต้องนั่งรถตึงตังขึ้นดอยสูงๆ ก็ที่นี่เลยค่ะ 🙂
2.ตักบาตรผักยามเช้า
ที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ชาวบ้านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก โดยจะนับถือศีล 5 และที่สำคัญ คือ รับประทานมังสวิรัติกันทั้งหมู่บ้าน และสิ่งที่น่าสนใจ คือ ทุกๆเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญใส่บาตรกันที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม วัดประจำหมู่บ้าน โดยพระสงฆ์จะไม่ออกมาบิณฑบาตร และอาหารที่ถวาย คือ ผักสด น้ำพริก และข้าว
ตั้งแต่เวลาประมาณตีห้าครึ่งของทุกวัน พี่น้องชาวปกาเกอะญอจะแต่งตัวด้วยชุดชนเผ่าสีสันสวยงามพากันออกมา บ้างเดิน บ้างขี่จักรยาน พาลูกพาหลานมาที่วัด ซึ่งเป็นภาพที่หาไม่ได้ที่ไหนแล้ว
แนะนำให้มาช่วงวันพระนะคะ เพราะชาวบ้านทุกคนจะมารวมตัวกันที่วัดแห่งนี้เพื่อทำสังฆทาน ทำวัตร สวดมนต์
3.ชิมเต้าหูสด ที่ทำร้อนๆออกจากเตา
เพราะที่นี่กินมังสวิรัติ ดังนั้นจึงต้องมีแหล่งทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และแหล่งโปรตีนจากพืชที่สำคัญ คือ ถั่วเหลืองซึ่งเอามาทำเต้าหู้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปซื้อมาจากข้างนอก ไม่รู้คุณภาพ และเพื่อประหยัด ในชุมชนแห่งนี้จึงมีการผลิตเต้าหู้เพื่อขายเองในชุมชน โดยจะทำตามออเดอร์วันต่อวัน ไม่มีการทำค้างข้ามวัน
การทำเต้าหู้จะเริ่มช่วง 8 โมงเช้าของทุกวัน ตั้งแต่การเลือกถั่วเหลือง บด ต้ม กรอง ใส่พิมพ์ กด ต้ม และออกมาเป็นเต้าหู้ถั่วเหลืองแบบ 100% สิ่งที่น่าสนใจ คือ กรรมวิธีการทำที่เป็นแบบพื้นบ้าน ใช้อุปกรณ์ที่พลิกแพลงหาได้ในพื้นที่ ตัวเองไม่คิดนะว่าการดูการทำเต้าหู้จะสนุกขนาดนี้ เลยขอแนะนำเป็นกิจกรรมต้องห้ามพลาดค่ะ
4.นั่งมองศิลปะการทอผ้าและการทำเครื่องเงินจนลืมเวลา
สิ่งที่โด่งดังของชุมชนพระบาทห้วยต้ม คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินตีมือและผ้าทอมือซึ่งทำกันโดยขาวบ้านในหมู่บ้านนี้ล่ะ ที่นี่มีศูนย์หัตถกรรม มีบ้านตีเครื่องเงินที่ให้ไปดูขั้นตอนกันได้ตั้งแต่เงินยังเป็นเม็ดเล็กๆ และผ้ายังเป็นแค่กลุ่มเส้นด้าย
กิจกรรมนี้อันตราย เพราะเมื่อดูแล้วได้ชมงานที่เสร็จออกมาแล้วก็อดใจไม่ได้ที่ต้องซื้อ :p
ที่พัก ไกด์ และอาหาร
พักโฮมสเตย์คืนละ 200 บาท/คน
อาหารที่โฮมสเตย์มื้อละ 100 บาท/คน อาหาร 3-4 อย่าง หรือจะกินร้านอาหารในหมู่บ้านจานละ 15-35 บาท
ไกด์พาเที่ยว 300 บาท/วัน
*ติดต่อจองห้องพักและสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณสุรีพร 087-185-6171, 053-518-8059, 083-324-3063 และคุณวิมล 065-734-9427
การเดินทาง
จากเชียงใหม่
1.รถตู้สีม่วงที่คิวรถช้างเผือก–คิวรถที่ลำพูน
ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ราคา 25 บาท เที่ยวแรก 6.30 เที่ยวต่อไปทุก 15-20 นาที เที่ยวสุดท้าย 18.10 สอบถาม 0833254965
2.ต่อรถสองแถวคิวรถที่ลำพูน–คิวรถที่ลี้
ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ราคา 60 บาท
3.นั่งรถวินมอเตอร์ไซค์ต่อขึ้นไป 100 บาท
จากกรุงเทพ
1.รถทัวร์
นั่งรถสายกรุงเทพฯ–ลี้–ลำพูน ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง
สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 และสามารถจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์ที่ http://www.pns-allthai.com/pns_bs/index.php
2.รถไฟ
มีรถไฟกรุงเทพ–ลำพูนออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปจังหวัดลำพูนทุกวัน วันละหลายเวลา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 www.railway.co.th
************************
ขอให้สนุกนะคะ
************************